ข้อมูลทั่วไป
พื้นที่
 ๒๓๖,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร (ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย)
เมืองหลวง นครหลวงเวียงจันทน์
ประชากร ๕.๖ ล้านคน (ปี ๒๕๔๘) ประกอบด้วยลาวลุ่มร้อยละ ๖๘ ลาวเทิงร้อยละ ๒๒ ลาวสูงร้อยละ ๙ รวมประมาณ ๖๘ ชนเผ่า
ศาสนา ร้อยละ ๗๕ นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ ๑๖-๑๗ นับถือผี ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน) และอิสลาม (ประมาณ ๓๐๐ คน)
ภาษา ภาษาลาวเป็นภาษาราชการ
รูปแบบการปกครอง ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โดยพรรคการเมืองเดียว คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาวซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ลาวเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยม เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๑๘
ประมุข พลโท จูมมะลี ไชยะสอน ประธานประเทศ
หัวหน้ารัฐบาล นายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรี
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายทองลุน สีสุลิด
รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๔ (เดิมกฎหมายอยู่ในรูปของคำสั่งฝ่ายบริหาร คือ ระเบียบคำสั่งของพรรคและสภารัฐมนตรี)
การแบ่งเขตการปกครอง แบ่งเป็น ๑๖ แขวง และ ๑ เขตปกครองพิเศษ (นครหลวงเวียงจันทน์) แขวงที่สำคัญได้แก่ เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต หลวงพระบาง จำปาสัก คำม่วน

การเมืองการปกครอง
                • พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดผูกขาดการปกครองประเทศ ตามระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ พรรคฯ ได้กำหนดนโยบายและเป้าหมายการพัฒนาประเทศในการประชุมสมัชชาพรรคฯ ครั้งที่ ๘ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติ ดังนี้
                - ปี ๒๕๖๓ ต้องพ้นจากสถานะการเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ต้องมีความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจต้องขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประชาชนต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากปัจจุบัน ๓ เท่าตัว
                - ปี ๒๕๔๙-๒๕๕๓ เป็นช่วงของการเสริมสร้างพื้นฐานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้สำหรับปี ๒๕๖๓ เศรษฐกิจต้องมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ยุติการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย แก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไป เตรียมพัฒนาบุคลากรรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ประชากรมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า ๘๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี
                •
ลาว ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งสร้างเสริมความสัมพันธ์แบบรอบด้านกับทุก ประเทศบนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยไม่แบ่งแยกลัทธิอุดมการณ์ เพื่อขอรับการสนับสนุนและความช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายตาม ที่พรรคฯ กำหนดไว้ ทั้งนี้ ลาวให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นลำดับแรก ได้แก่ เวียดนาม จีน พม่า กัมพูชาและไทย รองลงมาเป็นประเทศร่วมอุดมการณ์ ได้แก่ รัสเซีย เกาหลีเหนือ และคิวบา อย่างไรก็ดี แม้ว่าลาวจะพยายามดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ให้สมดุลเพื่อลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นหลัก แต่ด้วยข้อจำกัดของลาวที่ไม่มีทางออกทะเล และระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ด้อยอยู่ ประกอบกับความใกล้ชิดด้านอุดมการณ์และประวัติศาสตร์ การต่อสู้เพื่อเอกราช ทำให้ลาวมีความสัมพันธ์พิเศษกับเวียดนามและจีน อันเป็นผลให้ประเทศทั้งสองสามารถรักษาและขยายอิทธิพลในลาวได้ต่อไป

สถานการณ์สำคัญ
๑.ด้านการเมืองและความมั่นคง
                • สถานการณ์ภายในประเทศโดยรวมมีความสงบเรียบร้อย แม้ว่ายังคงมีรายงานการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลตามแขวงต่าง ๆ แต่ทางการลาวสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยได้จัดวางกองกำลังลาดตระเวนในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเข้มงวดทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙ ยุบเขตการปกครองพิเศษไชสมบูน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง โดยโอนพื้นที่การปกครองไปขึ้นกับแขวงเชียงขวางและแขวงเวียงจันทน์ เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นแล้ว
                • เมื่อวันที่ ๑๘-๒๑ มีนาคม ๒๕๓๙ ที่ประชุมสมัชชาพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ ๘ มีมติเป็นเอกฉันท์เลือกพลโท จูมมะลี ไชยะสอน รองประธานประเทศ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารศูนย์กลางพรรค (Central Committee) และสมาชิกคณะกรมการเมือง (Politburo) ลำดับที่ ๑ แทนพลเอกคำไต สีพันดอน อดีตประธานประเทศที่สละตำแหน่งในพรรคทุกตำแหน่ง และได้แต่งตั้งคณะบริหารพรรค ได้แก่ คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรค จำนวน ๕๕ คน คณะกรมการเมือง จำนวน ๑๑ คน คณะเลขาธิการศูนย์กลางพรรค จำนวน ๗ คน และคณะกรรมการตรวจตราพรรคฯ ระดับศูนย์กลางพรรคฯ จำนวน ๓ คน รวมทั้งได้กำหนดแผนพัฒนาประเทศระยะสั้นปี ๒๕๕๓ และระยะยาวปี ๒๕๖๓ เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ
                • เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๙ สปป.ลาวได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ ชุดที่ ๖ โดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้คัดเลือกส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง จำนวน ๑๗๕ คนเพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ จำนวน ๑๑๕ ที่นั่งใน ๑๗ เขตเลือกตั้ง (๑๖ แขวงและนครหลวงเวียงจันทน์) ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่ามีประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละร้อย สมาชิกสภาแห่งชาติที่ได้รับเลือกจำนวน ๑๑๕ คน เป็นสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาว จำนวน ๑๑๓ ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระจำนวน ๒ ที่นั่ง แบ่งเป็นชนเผ่าลาวลุ่ม ๙๒ คน ลาวเทิง ๑๗ คน และลาวสูง ๖ คน
                • การประชุมสภาแห่งชาติ ชุดที่ ๖ ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๘ – ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ โดยในการประชุมวันแรก ที่ประชุมได้รับรองผู้ดำรงตำแหน่งประธานประเทศ รองประธานประเทศ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมทั้งได้มีการปรับ/จัดตั้งกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ปรับกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมไปรวมกับกระทรวงการค้า เป็น “กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า” และจัดตั้ง “กระทรวงพลังงาน และบ่อแร่” ขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และนำศักยภาพด้านพลังงาน (พลังงานน้ำและแร่ธาตุ) มาใช้ในการพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

๒. ด้านเศรษฐกิจ
                • ภาวะเศรษฐกิจของ สปป.ลาวมีพัฒนาการที่ดีตามลำดับ โดยในช่วง ๒๐ ปีนับตั้งแต่ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีการตลาดเมื่อปี ๒๕๒๙ สปป.ลาวมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๖.๒ ต่อปี ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ ๒๐๐ ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี ๒๕๒๙ เป็น ๔๙๑ ดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๔๘ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ ต่อปี โดยอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นสาขาหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
                •
ในปี ๒๕๔๘ สปป.ลาวมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ ๗.๒ เพิ่มจากร้อยละ ๖.๖ ในปี ๒๕๔๗ ภาคเกษตรกรรม มีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ๑๙๐,๐๐๐ เฮกตาร์ (๑,๑๘๗,๕๐๐ ไร่) และผลิตข้าวได้ ๒.๖ ล้านตัน ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล สปป.ลาวได้อนุมัติสัมปทานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเหมืองแร่ (ทองคำ ทองแดง ดีบุก ถ่านหิน สังกะสี ยิปซั่ม) โครงการผลิตซีเมนต์และเหล็กในหลายพื้นที่เพื่อเพิ่มการส่งออก ด้านการคมนาคมขนส่ง การก่อสร้างถนนเชื่อมโยงลาวกับประเทศในอนุภูมิภาคมีความคืบหน้าอย่างมาก ถนนที่สร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ ถนนหมายเลข ๙ (ไทย-ลาว-เวียดนาม) และถนนหมายเลข ๑๘ B (ลาว-เวียดนามตอนใต้) ในขณะที่ถนนหมายเลข ๓ (ไทย-ลาว-จีน) ถนนหมายเลข ๘ และหมายเลข ๑๒ (ไทย-ลาว-เวียดนาม) จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๐
                • อย่างไรก็ดี ลาวยังคงประสบปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ที่สำคัญได้แก่ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดดุลการค้าที่สูง การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และการฉ้อราษฎร์บังหลวง

๓. ด้านสังคม
                • ปัญหายาเสพติดเป็นประเด็นที่รัฐบาล สปป.ลาวให้ความสำคัญในลำดับต้นและ ประสบความสำเร็จในการขจัดพื้นที่การปลูกฝิ่นในลาวให้หมดสิ้นไปภายในปี ๒๕๔๘ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้รวมทั้งได้จัดทำแผนขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาชนบท ป้องกันไม่ให้ประชาชนหวนกลับไปปลูกฝิ่นอีก สำหรับปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหา ความไม่รู้หนังสือของประชาชน ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์และปัญหาการเก็บกู้กับระเบิดที่ตกค้าง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่การเกษตรและเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรลาว

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
                สนับสนุนและส่งเสริมลาวในทุกทางเพื่อให้มีความก้าวหน้า เข้มแข็ง รุ่งเรืองและเป็นมิตรประเทศที่ดีของไทย
กลไกความร่วมมือไทย-ลาว
                ความสัมพันธ์ไทย-ลาวในปัจจุบันดำเนินไปอย่างราบรื่นใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายได้ใช้กลไกและเวทีความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีผลักดันความร่วมมือและแก้ไขปัญหา เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธี ที่สำคัญได้แก่
                ๑. คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว เป็นกลไกกำกับดูแลการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ลาวในภาพรวม ตั้งขึ้นเมื่อพฤษภาคม ๒๕๓๔ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ ทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม สองฝ่ายได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นทุกปี โดยมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานหลักของไทยและลาวเข้าร่วม การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ ๑๔ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ มกราคม ๒๕๔๙ ที่จังหวัดตราด
                ๒. คณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย-ลาว ตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๓๔ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศเป็นประธานร่วม เป็นกลไกกำหนดแนวทางและมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยและเสถียรภาพตามชายแดน การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ ที่กรุงเทพ มหานคร
                ๓. คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาว ตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๙ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและลาวเป็นประธานร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมตลอดแนวชายแดน การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ ๘ ระหว่างวันที่ ๗-๘ มีนาคม ๒๕๕๐ ที่หลวงพระบาง
                ๔. คณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ลาว เป็นผลสืบเนื่องจากการเยือนลาวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๐ และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ ๗ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๐ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ครั้งที่ ๑ มีขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๑ กรุงเทพมหานคร มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและการท่องเที่ยวลาวเป็นประธานร่วม ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมแผนความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจการค้าไทย-ลาว มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทย-ลาวเป็นประธานร่วม ได้จัดประชุมครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ ณ นครหลวงเวียงจันทน์
                ๕. คณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนไทย-ลาว (เปลี่ยนชื่อมาจากคณะกรรมการไกล่เกลี่ยแก้ไขข้อพิพาทด้านธุรกิจและการลงทุนไทย-ลาว) จัดตั้งโดยมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ ๗ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๐ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย เป็นประธานร่วม เพื่อเป็นกลไกอำนวยความสะดวกการไกล่เกลี่ยแก้ไขข้อพิพาทด้านธุรกิจและการลงทุนและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจระหว่างไทย-ลาว การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๙ ที่เกาะช้าง จังหวัดตราด
                ๖. การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าแขวงชายแดนไทย-ลาว จัดตั้งโดย มติที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ ๖ เมื่อกันยายน ๒๕๓๙ ณ จังหวัดสงขลา การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ ๖ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ ที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยในระดับจังหวัดกับแขวงเพื่อเป็นกลไก ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาตามบริเวณชายแดนในระดับท้องถิ่นมิให้ลุกลามเป็นปัญหาระดับชาติ
                ๗. การประชุมทวิภาคีว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นกลไกความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานฝ่ายไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานประเทศเป็นประธานฝ่ายลาว การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๖-๗ กันยายน ๒๕๔๙ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
                ๘. สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ จัดตั้งโดยกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี ๒๕๓๗ เพื่อเป็นกลไกเสริมในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาวในระดับประชาชนต่อประชาชน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยฝ่ายลาวได้จัดตั้งสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ ภายใต้ศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว เป็นสมาคมร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ กับสมาคมไทย-ลาวฯ ทั้งสองสมาคมมีการประชุมร่วมกันทุกปี การประชุม ร่วมระหว่างสองสมาคมครั้งล่าสุด คือ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๙ ที่กรุงเทพมหานคร

สถานะความร่วมมือ
                พัฒนาการที่สำคัญของความสัมพันธ์ไทย-ลาวได้แก่การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-ลาวอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๗ ณ แขวงจำปาสัก และจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นการประชุม ครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งสองฝ่ายสามารถหารือในปัญหาที่คั่งค้างเป็นเวลานานได้อย่างตรงไปตรงมา และหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันได้ และ ได้ผลักดันความร่วมมือในระยะต่อไปเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันโดยหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายได้นำผลการประชุมดังกล่าวมาปฏิบัติจนมีผลคืบหน้า สรุปได้ ดังนี้

ด้านการเมืองและความมั่นคง
                • ความร่วมมือด้านการทหาร กองทัพไทย-ลาวมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น สามารถแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความมั่นคงทำให้พื้นที่บริเวณชายแดนไทย-ลาวส่วนใหญ่ มีความสงบเรียบร้อยดี พัฒนาการที่สำคัญ ได้แก่ การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงบริเวณชายแดนไทย-ลาว ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติงานให้ชายแดนไทย-ลาวเป็นชายแดนแห่งมิตรภาพ สันติภาพ และความมั่นคง โดยขณะนี้กองทัพไทย-ลาวอยู่ระหว่างจัดทำแผนงานประกอบ ความตกลงเพื่อนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
                • การแก้ไขปัญหาบุคคลผู้ไม่หวังดีต่อความสัมพันธ์ไทย-ลาว หรือ “คนบ่ดี” ทางการไทยได้ยืนยันกับลาวในทุกโอกาสว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ยินยอมให้กลุ่มหรือบุคคลใด ใช้ดินแดนไทยเป็นฐานหรือทางผ่านเข้าไปก่อความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านและได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๖ เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรี เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางดำเนินการและจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลผู้ต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร (blacklist) เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบและอนุญาตให้บุคคลต่างด้าวเข้าเมือง สำหรับกรณีชาวม้ง ในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอกทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๖ ยินดีรับชาวม้งดังกล่าว ซึ่งมีจำนวน ๑๕,๖๓๙ คน ไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ และได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๔๗– พฤษภาคม ๒๕๔๘ และกรณีชาวม้งลาวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในการเยือน สปป.ลาวอย่างเป็นทางการ ของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๙ สอง ฝ่ายเห็นชอบให้คณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย-ลาวเป็นกลไกแก้ไขปัญหาซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย ได้ร่วมมือและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด
                • การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-ลาว เขตแดนไทย-ลาวมีระยะทางทั้งสิ้นประมาณ ๑,๘๑๐ กิโลเมตร แบ่งเป็นเขตแดนทางบก ๗๐๒ กิโลเมตร และเขตแดนทางน้ำ ๑,๑๐๘ กิโลเมตร ไทยและลาวได้ลงนามความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวร่วมกัน โดย มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายรู้ที่ตั้ง ของเส้นเขตแดนอย่างแน่ชัดและได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาวขึ้น เป็นกลไกกำกับดูแลการดำเนินงานดังกล่าว มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและลาวเป็นประธานร่วม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๐ ที่สองฝ่ายได้เริ่มสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในภูมิประเทศจริงจนถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ สามารถจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมกันได้ ๑๙๐ หลัก ระยะทางประมาณ ๖๗๖ กิโลเมตร ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาว ครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ ๗-๘ มีนาคม ๒๕๕๐ ได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเร่งรัดดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้แล้วเสร็จตลอดแนว โดยทางบกให้สำเร็จภายในปี ๒๕๕๑ และทางน้ำภายในปี ๒๕๕๓
                • ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไทยและลาวได้ลงนาม ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และ สารตั้งต้น เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๔ หน่วยงานด้านปราบปรามยาเสพติดไทย-ลาวมีความร่วมมือทั้งด้านวิชาการ แลกเปลี่ยนข้อมูล และความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดโดยได้จัดการประชุม ว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติดเป็นประจำทุกปี การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ ๙ เมื่อวันที่ ๖-๗ กันยายน ๒๕๔๙ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความคืบหน้าของความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่
                -
เจ้าหน้าที่สองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการลักลอบค้ายาเสพติด อย่างต่อเนื่อง และขยายไปสู่การปฏิบัติการร่วมในการจับกุมนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ
                -
ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้จัดตั้งสำนักงานประสานงานปราบปรามยาเสพติดชายแดน (Border Liaison Office- BLO) เพิ่มเติมอีก ๔ จุด (อ.บึงกาฬ จังหวัดหนองคาย – เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ / อ.เมือง จ.มุกดาหาร- เมืองไกสอน แขวงสะหวันนะเขต / อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี – เมืองชะนะสมบูน แขวงจำปาสัก / อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี – เมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต) จากเดิมที่มีอยู่ ๔ แห่ง (อ.เชียงของ จ.เชียงราย – เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว / ด่านสะพานมิตรภาพหนองคาย-เวียงจันทน์ / อ.เมือง จ.นครพนม-เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน และด่านช่องเม็ก-วังเต่า) รวมทั้งลาดตระเวนร่วมตามลำแม่น้ำโขงในบริเวณดังกล่าว
                - โครงการก่อสร้างศูนย์บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่แขวง จำปาสัก ที่ฝ่ายไทยให้ความช่วยเหลือมูลค่า ๒๔.๗๕ ล้านบาทได้ก่อสร้างเสร็จและส่งมอบให้ฝ่ายลาวเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๘ และฝ่ายไทยได้มอบวัสดุ/อุปกรณ์ในโครงการความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด มูลค่าประมาณ ๒ ล้านบาทให้ฝ่ายลาวเมื่อกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘
                •
ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรของประชาชน ไทยและลาวมีพรมแดนติดต่อกันรวม ๑๑ จังหวัด / ๙ แขวง สองฝ่ายได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม๒๕๔๗ และได้ร่วมกันเปิด/ยกระดับจุดผ่านแดนที่เห็นเหมาะสมร่วมกัน ในปี ๒๕๔๙ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบ ในหลักการให้ขยายเวลาทำการด่านช่องเม็ก-วังเต่า จากเดิมเวลา ๐๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. เป็น ๐๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. รวมทั้งได้เปิดจุดผ่านแดนถาวรเพิ่มอีก ๑ จุด ที่สะพานมิตรภาพ ๒ (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๙

 

 

กลับหน้าหลัก